วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2565) ก็มีข่าวที่สร้างความไม่ค่อยพอใจของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกกันว่า LGBTQ+ สักเท่าไรนัก เพราะในที่สุด กฏหมาย #สมรสเท่าเทียม หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่.. ) พ.ศ. … ที่คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ ก็ถูกเข้าโหลดอง 60 วัน เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนเข้าสู่สภาฯ พิจารณาในวาระ 1 (ขั้นรับหลักการ)
ต้องบอกว่ากฏหมายนี้ในสังคมเสียงค่อนข้างแตกพอสมควร เพราะกลุ่มคนที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม และผู้นับถือศาสนาอิสลาม ยังคงมีความคิดที่ว่า การที่เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด เป็นเรื่องผิดแปลกจากสังคม ต้องถูกกำจัด กลับกันคนที่มีความคิดก้าวหน้า สนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะเชื่อในความหลากหลาย
ถ้าถามผมว่า อีก 60 วันผลจะเป็นอย่างไร
ผมคงไม่สามารถฟันธงได้ มีแต่ข้อมูลที่ผมคิดว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้จะเชื่อถือและยึดเป็นที่ยึดเหนี่ยวในการตัดสินร่างกฏหมายฉบับนี่
คือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกัน ที่ออกมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่เนื้อหาดูจะไม่เป็นคุณกับขบวนการ LGBTQ+ ของไทยเอาเสียเลย
กฎหมายจะบังคับใช้ได้อย่างยั่งยืนต้องเป็นที่ยอมรับและไม่ขัดกับความรู้สึกของคนในประเทศ ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีที่แตกต่างกันของแต่ละสังคมย่อมเป็นที่มาของกฎหมายที่แตกต่างกันด้วย ในสังคมไทย มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า การสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น ป.พ.พ. มาตรา 1448 จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติและจารีตประเพณีที่มีมาช้านาน วัตถุประสงค์ของการสมรส คือ การที่ชาย-หญิง อยู่กินฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ มีการสืบทอดทรัพย์สิน มรดก มีการส่งต่อความผูกพันระหว่างพ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ซึ่งการสมรสในระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้
จากข้างต้น จะพบว่าชนชั้นนำไทยมีอคติกับ LGBTQ+ อยู่พอสมควร กล่าวคือ สามารถใช้เป็นสินค้าสร้างมูลค่าให้ประเทศชาติผ่านซีรี่ส์วายได้ แต่ในขณะเดียวกันก็จำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตของกลุ่มบุคคล LGBTQ+
ดังนั้น ถ้าระบบการเมืองบ้านเรา ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจบงการสถาบันทางการเมืองต่างๆ อยู่แบบนี้
และประวัติที่ผ่านมาของรัฐบาล ประยุทธ จันทร์โอชาที่ผ่านมา ที่คว่ำร่างกฏหมายที่เป็นประโยชน์ต่อสิทธิ เสรีภาพ สวัสดิภาพของประชาชนไปแล้วไม่รู้กี่ฉบับ
อีก 60 วัน ก็น่าจะได้คำตอบจากคณะรัฐมนตรีไม่ต่างจากที่แล้วมา
นั่นคือ “ปัดตก” ตามเคย
หวังว่าจะมีปาฏิหารย์อะไรสักอย่างมาดลใจชนชั้นนำให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพประชาชน และทำให้คำทำนายของผมผิด
สาธุ
อย่างไรก็ดี หากร่างฯนี้ถูกปัดตกจริงๆ ก็อย่าท้อไปนะครับ ยังมีร่างของภาคประชาชน ที่กำลังเข้าชื่อกันอยู่ ก็เข้าไปลงกันได้ที่ https://www.support1448.org/
เบสท์ – #SorawichToday
อ้างอิง
- คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณี #สมรสเท่าเทียม https://ilaw.or.th/sites/default/files/ruling20-2564_0.pdf
- ร่าง #สมรสเท่าเทียม ส่งครม. รอ 60 วัน https://www.khaosod.co.th/politics/news_6880577